ประวัติชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง


คนบนดอย
คนบนดอย
ชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง

บ้านป่าเหมี้ยง เป็นชุมเก่าแก่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่า 200 ปี มาแล้ว เริ่มต้นชาวขมุมาอาศัยอยู่ก่อน ต่อมาจึงมีคนทยอยย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัย แต่ก่อนนั้นชาวบ้านเชื่อว่าบ้านป่าเหมี้ยงเป็น ป่าหินพาน และเรียกกันว่า ป่าเหมี้ยงแม่ปาน

มีเรื่องเล่าสืยต่อกันมาแต่โบราณจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า ครั้งหนึ่ง มีพระฤๅษีเดินธุดงค์ผ่านมาแวะพักที่บ้านป่าเหมี้ยง ฤๅษีนั่งสมาธิ ปฏิบัติกิจต่าง ๆ จนรู้สึกง่วง ฤๅษีจึงต้มน้ำดื่ม และเมื่อหันมองไปรอบ ๆ ตัว ก็พบว่ามีต้นไม้ลักษณะแปลกตา ใบของต้นไม้มีลักษณะสวยงาม (ต้นเมี่ยง) ฤๅษีลองเด็ดใบไม้นั้น (ใบเมี่ยง) มาต้มดื่ม จึงรู้สึกดีขึ้น เมื่อนั่งภาวนาต่อไปก็ไม่รู้สึกง่วง จึงจุดตะเกียงนั่งอยู่ทั้งคืน ต่อมามีนายพรานมาหาของป่า จึงได้พบกับฤๅษี ฤๅษีนำน้ำต้มกับใบเมี่ยง ให้นายพรานดื่ม นายพรานดื่มแล้วก็รู้สึกกระปรี้กระเปร่า สามารถนั่งห้างยิงสัตว์ (ที่นั่งบนต้นไม้สูงมีไว้เฝ้าล่าสัตว์) ได้ตลอดทั้งคืน จึงถามกับฤๅษีว่าเป็น มันคือน้ำอะไร ฤๅษีไม่ได้ตอบ แต่บอกให้นายพรานเก็บใบเมี่ยงไปต้มดื่ม นายพรานจึงเก็บใบเมี่ยงไปและนำไปแบ่งให้กับชาวบ้าน ปรากฏว่าเมื่อชาวบ้านต้มดื่มแล้ว ก็สามารถนั่งทำงาน นั่งคุยกัน ไม่หลับไม่นอน เมื่อมองจากที่ไกล ๆ จะเห็นไฟตะเกียงที่ชาวบ้านจุดอยู่ “เหมียง ๆ” (เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ดวงไฟสว่างในความมืด) ชาวบ้านจึงตั้งชื่อใบไม้นั้นว่า “ใบเมี่ยง” และหมู่บ้านนี้จึงก็ได้ชื่อว่า บ้านป่าเหมี้ยง ตั้งแต่นั้นชาวบ้านก็เก็บใบเมี่ยงมารับประทาน และใช้เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนกับบ้านอื่น ๆ เช่น แลกข้าว แลกผัก

แต่เดิมบ้านป่าเหมี้ยงมีคนอาศัยไม่มาก ต่อมาเกิดเรื่องเล่าลือ บอกต่อกันปากต่อปากว่า ถ้าตัดต้นไม้ที่บ้านป่าเหมี้ยงจะเจอเงินตั้งแต่ยอดลงมาจนถึงโคนทีเดียว จึงมีคนถิ่นอื่นเดินทางเข้ามาแสวงโชคกันจำนวนมาก แต่เมื่อมาถึงก็พบว่าเรื่องเล่านั้นไม่เป็นจริงดังคำที่กล่าวอ้าง เป็นเพียงอุบายที่บ่งบอกถึงประโยชน์ของต้นไม้และธรรมชาติเท่านั้น แต่เมื่อผู้มาถึงคิดจะเดินทางกลับก็ลำบาก เพราะสมัยนั้นการคมนาคมไม่สะดวกสบาย จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านป่าเหมี้ยงเสียเลย

นามสกุลที่เก่าแก่ที่สุดของคนบ้านป่าเหมี้ยง คือ “ไทยใหม่”

นามสกุลที่ได้รับยกย่องว่าเป็นนักรบของคนบ้านป่าเหมี้ยง คือ “ข้อมือเหล็ก”

อาชีพหลักของชาวบ้าน คือ เก็บใบเมี่ยงขาย ทำข้าวไร่ (ข้าวที่ปลูกบนพื้นที่สูง) ในอดีตเมี่ยง 1 กำ ราคา 1 สตางค์ ปรับราคาขึ้นมาเป็น 50 สตางค์ และ 1 บาท โดยชาวบ้านจะนำใบเมี่ยงใส่หลังวัวหรือม้า ขนไปขายที่ บ้านแม่สุข บ้านทุ่งคา โดยมีการแบ่งพื้นที่การเก็บเมี่ยงของแต่ละครอบครัว ๆ ละ 5 วา ปัจจุบันชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่ที่มีการแบ่งเขตแดนในการเก็บเมี่ยงว่า “ม่อน 5 วา”

ข้อมูลจาก พ่อหลวงยอด ต๊ะคำ (ตุลาคม ๒๕๕๒)
สัมภาษณ์โดย ทีมยุววิจัย “ย้อนรอยที่บนดอยป่าเหมี้ยง” โรงเรียนเมืองปานวิทยา
โครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดลำปาง