กลุ่มกาแฟบ้านใหม่พัฒนา : ทีละก้าว อย่างมั่นคง


กลุ่มวิสาหกิจกาแฟ ชุมชนบ้านใหม่พัฒนา

ภูมิประเทศโดยรอบของ บ้านใหม่พัฒนา เป็นพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,100 – 1,200 เมตร อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แวดล้อมไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการปลูกกาแฟ

เดิมทีชาวบ้านปลูกฝิ่น แต่ก็ได้เลิกไปเมื่อปี 2536 หลังจาก ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ ชาวบ้านจึงเริ่มหันมาทำไร่กาแฟทดแทน โดยจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อกาแฟแบบ “เชอรี่” (เมล็ดกาแฟสุก เปลือกมีสีแดงเหมือนเชอรี่) ถึงหน้าสวน ในราคากิโลกรัมละ 6-7 บาท

เดือนตุลาคม – มีนาคม คือช่วงเมล็ดกาแฟสุก จะเก็บขายได้ทุกวัน เฉลี่ยวันละประมาณ 50 กิโลกรัม

ปี 2548 โครงการหลวง เข้ามารับซื้อกาแฟแบบ “กะลา” (เมล็ดกาแฟที่สีเอาเปลือกเชอรี่ออกแล้ว เหลือเปลือกในประกบกันมีลักษณะเหมือนกะลา) จากเกษตร ในราคากิโลกรัมละ 110-130 บาท

“เรามาเริ่มปลูกจริง ๆ จัง ๆ ก็หลังปี 2540 พอหลังโครงการหลวงเข้ามาซื้อแบบกะลา ราคามันดีกว่า รายได้เราก็เริ่มดีขึ้น บางคนก็เริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง เพราะกาแฟนี่ ปลายน้ำ จะได้กำไรดีกว่า ต้นน้ำ แต่มันก็ต่างคนต่างทำไป ต่างคนต่างขาย” ตั๋ว จางอรุณ เจ้าของแบรนด์ ตั๋วกับหมี เกษตรกรปลูกกาแฟมายาวนานตั้งแต่เริ่มต้น


ตั๋ว จางอรุณ กับภรรยา (หมี) เจ้าของแบรนด์ ตั๋วกับหมี

ปี 2561 มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มกาแฟบ้านใหม่พัฒนา” ได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานรัฐต่าง ๆ สามารถแปรรูปกาแฟ และสร้างแบรนด์ของตัวเองได้

“สำหรับ อ.เมืองปาน ธกส. เรายกกาแฟเป็นพืชสำคัญ เป้าหมายสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกร เพราะกาแฟเป็นพืชหลักของที่นี่ ทั้งขยายการสนับสนุนเงินกู้ การตลาด ให้มีคุณภาพ ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ตั้งแต่ปลูก ยันปลายน้ำ คือ ช่องทางตลาด ให้กับลูกค้าธนาคาร ตอนนี้กลุ่มกาแฟบ้านใหม่พัฒนา มีแบรนด์เป็นของตัวเอง มีโรงคั่วกาแฟ มีเครื่องคั่วกาแฟที่มีคุณภาพ เราก็จะสนับสนุนส่งเสริมต่อไปให้กลุ่มเข้มแข็งมากขึ้น ๆ” พนนิษฐ์ ไหวพินิจ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขา อ.เมืองปาน เล่าทิ้งท้าย

ปัจจุบันคนบ้านใหม่พัฒนามีอาชีพปลูกกาแฟกว่า 90% หรือประมาณ 190 หลังคาเรือน คิดเป็นพื้นที่สวนกาแฟกว่า 500 ไร่ สามารถผลิตกาแฟได้มากกว่า 500 ตันต่อปี ทั้งปลูกเพื่อขายและนำมาแปรรูป สร้างรายได้ให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน

BANMAI Coffee