แม่แจ๋ม…ต้นแบบธุรกิจชุมชนท่องเที่ยวของ ธ.ก.ส. กาแฟอาราบิก้าที่นี่ “แจ่มจริงๆ” (เกษตรก้าวไกลไปด้วยกัน) – มีคลิป
“แม่แจ๋ม” เป็นหมู่บ้านเล็กๆที่อยู่ในตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง เป็น 1 ใน 8 โมเดลการพัฒนาธุรกิจชุมชนเพื่อเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในกลุ่มที่พักโฮมสเตย์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มนำเที่ยวและขนส่ง กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชม ภายใต้โครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน ธนาคารออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สภาเกษตรกรแห่งชาติ ภาครัฐ เอกชนและประชาชนในพื้นที่ โดยผ่านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
ประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา การพัฒนาจากใจ ธ.ก.ส.
โครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา ที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการนั้นเป็นการต่อยอดจากนโยบายประชารัฐสร้างไทยของรัฐบาล ที่เน้นการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน ประกอบด้วย กิจกรรมการผลิต กิจกรรมขายผลผลิต กิจกรรมการซื้อและบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน โดยใช้ทรัพยากรของชุมชน มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลและเป็นธรรม
โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนที่เริ่มจากการค้นหาและศึกษาความต้องการของชุมชน ทั้งโอกาส ศักยภาพ ปัญหา แนวทางพัฒนาและแก้ไข เหมือนการระเบิดจากภายใน จากนั้นจึงเริ่มพัฒนา สร้างความเข้มแข็ง โดยยึดหลักตลาดนำการผลิตและมีการกำหนดแผนธุรกิจที่ชัดเจน ผสานความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในด้านความรู้ เทคโนโลยีนวัตกรรม งานวิจัย และงบประมาณ
อีกทั้ง ธ.ก.ส. ยังช่วยสนับสนุนสินเชื่อให้กับ Smart Farmer ผู้ประกอบการ SME เกษตร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร เพื่อทำให้เกิด ผลลัพธ์ คือ ความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก มีภูมิคุ้มกัน มีรายได้ สวัสดิการสังคม และโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ชี้ว่า กลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ SMART Farmer SMEs หัวขบวน วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร ซึ่งแบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม กลุ่มการผลิต กลุ่มบริการและกลุ่มรวบรวม ด้านท่องเที่ยว กลุ่มที่พักโฮมสเตย์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มนำเที่ยวและขนส่ง กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชม และด้านอุตสาหกรรม กลุ่มแปรรูปและกลุ่ม Logistics
โดยธ.ก.ส. ได้ตั้งเป้าขับเคลื่อนให้ได้ 928 ชุมชน ภายในสิ้นปี 2562 และเป็น 9,000 ชุมชน ภายในปี 2564 “ธ.ก.ส.พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนด้วยการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อขยายโอกาสในด้านต่างๆ ทั้งเงินทุน องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ให้แก่คนในชุมชน ได้ครอบคลุม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกระดับห่วงโซ่มูลค่าการผลิต อุตสาหกรรม และบริการต่าง ๆ เพื่อสร้าง SMART Farmer ผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ สู่การสร้างความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจฐานราก โดยการอำนวยสินเชื่อรวมกว่า 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2564”
แม่แจ๋ม ดินแดนแห่งกาแฟ
แล้วมาแจ๋ม ชุมชนแห่งนี้ดีอย่างไร ถึงได้รับการคัดเลือกจากธ.ก.ส. ให้เป็นต้นแบบการพัฒนาตามโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา ในการนี้ นายพนนิษฐ์ ไหวพินิจ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขาเมืองปาน หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่บ้านแม่แจ๋ม ต่างเรียกขานว่า ผู้การพนา จึงได้นำทีมงานเกษตรก้าวไกล ได้เดินทางข้ามภูเขาสูงสู่พื้นที่ที่เรียกได้ว่าเป็นเพชรเม็ดงามของการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดลำปางแห่งนี้ ซึ่งเส้นที่จะนำเข้ามสู่หมู่บ้านแห่งนี้สามารถเลือกใช้ทั้งการมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ให้ใช้เส้นทางจากอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ วิ่งผ่านทางตำบลเทพเสด็จ รวมระยะทางประมาณ 58 กิโลเมตร อีกเส้นทางคือวิ่งมาจากอำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง รวมระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร
แม่แจ๋มนั้น เป็นพื้นที่ถิ่นอาศัยของประชาชนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ได้มาอาศัยอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ท่ามกลางขุนเขาอันสลับซับซ้อน ที่มีสายน้ำไหลลัดเลาะผ่านกลางชุมชน เพื่อช่วยในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิต ซึ่งวันนี้ชุมชน “บ้านแม่แจ๋ม” ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้เป็นอย่างดี เหมาะอย่างยิ่งแก่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม ตลอดจนยังเป็นพื้นที่ที่มีมนต์เสน่ห์ ด้วยภูมิประเทศอันโดดเด่นมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และมีเส้นทางถนนที่สามารถจะเชื่อมโยงต่อไปยังพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงได้ โดยตลอดเส้นทางจะมีวิวทิวทัศน์และสถานที่ทางธรรมชาติที่สวยงาม
เมื่อเดินทางสู่บ้านแม่แจ๋ม ร้านกาแฟสดดอยแม่แจ๋ม คือสถานที่นัดพบกับหนึ่งในหัวขบวนที่เป็นครุ่นใหม่ของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและอาชีพการปลูกกาแฟของหมู่บ้านแห่งนี้ เขาคือ “ศิวณัฐ กองไฝ” หรือ “แคท” ชายหนุ่มชาวเชียงใหม่ที่ได้ที่มาปักหลักอยู่กับครอบครัว ซึ่งเป็นคนแม่แจ๋ม
ร้านกาแฟสดดอยแม่แจ๋ม เป็นร้านที่แคทได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมการให้บริการในทุกด้านสำหรับนักท่องเที่ยว และเป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดกาแฟคั่ว อาราบิก้าแท้ 100% สบู่กาแฟ ชาอู่หลง สมุนไพรเลือดมังกร แมคคาเดเมีย น้ำผึ้งธรรมชาติ เป็นต้น
มุมแห่งการจุดประกายให้ชายหนุ่มผู้นี้ เดินหน้าในการผลักดันการพัฒนาของคนในชุมชน และนำมาสู่การรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟ ภายใต้แบรนด์ “ดอยแม่แจ๋ม” ภายใต้การสนับสนุนด้านเงินทุนในการรับซื้อเมล็ดกาแฟจากสมาชิก
สำหรับกาแฟของแม่แจ๋ม แคทมองเห็นว่าชาวบ้านที่นี่ปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลัก แต่กาแฟที่ปลูกได้จะรวบรวมส่งขายให้กับพ่อค้าที่อยู่นอกท้องถิ่น รวมทั้งครอบครัวของภรรยาก็ขายกาแฟในรูปแบบเดียวกัน เขามองเห็นว่าน่าจะมีการเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปจากเมล็ดกาแฟมาเป็นกาแฟสด และก็ได้ลงมือทำทันที
เขาหวังว่าจะสร้างแบรนด์กาแฟให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเหมือนกาแฟดอยอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนและเกิดการท่องเที่ยวชุมชน อีกทั้งตัวเขาเองนั้นยังได้สร้างรีสอร์ทเล็กๆ ในนาม Doi Maejam Riverside Home โทร. 08-0128-2528 ที่มีการสร้างบ้านพัก แบบ Private กลางหุบเขา ติดริมน้ำ เหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องการพาครอบครัวหรือคนสำคัญมาพักผ่อนกับธรรมชาติ เพื่อเติมพลัง และผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน ด้วยการมาชมความงามของธรรมชาติ และอากาศที่บริสุทธิ์ สัมผัสกิจกรรมการประกอบอาชีพ ในด้านกาแฟตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการแปรรูป
อร่อยกับอาราบิก้าคุณภาพ
แคท บอกว่า บ้านแม่แจ๋ม เป็นหมู่บ้านที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,116 เมตร จึงเป็นระดับที่ต้นกาแฟปลูกแล้วได้รสชาติที่ดี จึงทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟกันมาก เรียกได้ว่าแทบทุกหลังคาเรือนมีการยึดอาชีพการปลูกกาแฟเป็นหลัก ด้วยกระแสความนิยมกาแฟที่เพิ่มมากขึ้นจึงทำให้ต้องมีการพัฒนารูปแบบการจำหน่าย จากเดิมจะจำหน่ายเป็นผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบ
ปัจจุบันได้มีการแปรรูปรูปกาแฟขึ้นภายในหมู่บ้านและส่งจำหน่ายทั่วประเทศ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี โดยผลิตภัณฑ์กาแฟหลักๆที่จำหน่ายได้แก่ กาแฟเชอรี่ มีผลผลิตประมาณ 1,500 กิโลกรัมต่อปี กาแฟกะลา มีผลผลิตประมาณ 60 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังมีผักปลอดภัย มะคาเดีย รวมถึงการท่องเที่ยวชุมชนในเชิงนิเวศ และวัฒนธรรม ซึ่งจากการสนับสนุนของธ.ก.ส. ตามโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนาจะนำไปสู่ก้าวการพัฒนาอีกขั้นในด้านการท่องเที่ยว ภายใต้การรวมกลุ่มของชาวบ้านในลักษณะของวิสาหกิจชุมชน
นอกจากเป็นกาแฟอาราบิก้าแท้ 100% ด้วยคุณลักษณะพิเศษเฉพาะของพื้นที่จากดอยแม่แจ๋มอีกประการหนึ่งที่ทำให้ได้ความหอมกรุ่นกาแฟแท้จากธรรมชาติ คือ ชุมชนแห่งนี้ถูกรายล้อมด้วยแหล่งน้ำพุร้อน 4 ด้าน คือ น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน น้ำพุร้อนสันกำแพง น้ำพุร้อนแม่ขะจาน และน้ำพุร้อนบ้านโป่งกุ่ม จึงทำให้เกิดการระเหยของไอน้ำพุร้อน กลั่นลงมาเป็นฝนตกรดต้นกาแฟ ทำให้ต้นกาแฟที่นี่ได้รับสารอาหารพิเศษจากธรรมชาติ
“กาแฟที่นี่สะสมสารอาหารนานถึง 9 เดือนจนสุกงอมเต็มที่ และอุดมด้วยแร่ธาตุที่ไม่เหมือนใคร จึงทำให้กาแฟอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ นำมาคั่วสดใหม่เพื่อดึงกลิ่นและรสชาติที่ดีที่สุด ให้ผู้ที่หลงใหลกาแฟได้ดื่มด่ำในทุกวัน” แคทบอก
โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม จะเป็นช่วงเก็บผลผลิตเมล็ดกาแฟ และเป็นอีกช่วงที่ทุกคนที่สนใจสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อชมกระบวนการทำกาแฟ ชมโรงงาน-โรงคั่วที่ได้รับรองมาตรฐาน และพร้อมดื่มด่ำกับความหอมกรุ่นของกาแฟสดที่ร้านกาแฟดอยแม่แจ๋ม โดนในการเก็บเมล็ดกาแฟของชาวบ้านแม่แจ๋มนั้น จะเก็บกาแฟเชอร์รี่จากต้นกาแฟที่ขึ้นเรียงรายอยู่ใต้เงาไม้ใหญ่ดั้งเดิม จากนั้นจะทำการรวบรวมผลผลิตส่งไปยังวิสาหกิจชุมชนที่ทำหน้าที่รับซื้อเมล็ดกาแฟมาแปรรูปในขั้นตอนที่เรียกว่า การทำกาแฟกะลา
โดยหลังจากนำกาแฟเชอร์รี่มากะเทาะเปลือกโดยใช้เครื่องสีเชอร์รี่ แล้วนำเมล็ดกาแฟที่ได้มาล้างให้สะอาด นำไปตากแดดให้แห้ง ประมาณ 5 – 6 แดด เมื่อกาแฟที่ตากแห้งแล้ว จะเรียกว่า กาแฟกะลา จากนั้นจะนำกาแฟกะลาเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกอีกครั้ง จะได้ กาแฟสาร ซึ่งกาแฟสาร จะนำไปแปรรูปโดยการคั่ว และบรรจุลงถุงบรรจุภัณฑ์ โดยประกอบด้วยผลิตภัณฑ์…
หนึ่ง กาแฟคั่วอ่อน หรือ Light Roast บรรจุอยู่ในถุงสีขาว ซึ่งจะมีกลิ่นเปรี้ยวอ่อนๆ เป็นเอกลักษณ์เหมาะสมสำหรับการทำกาแฟร้อน
สอง กาแฟคั่วกลาง หรือ Medium Roast บรรจุอยู่ในถุงสีทองจะเน้นความหอม มีความขมเล็กน้อย เหมาะสำหรับนำไปทำกาแฟร้อนและเย็น
สาม กาแฟคั่วเข้ม Espresso บรรจุในถุงสีแดง ที่เน้นความขม เหมาะสำหรับทำกาแฟเย็น
แม่แจ๋ม ชุมชนแห่งกาแฟ ชุมชนต้นแบบของการพัฒนา จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ควรแวะ แบบห้ามพลาดเลยที่เดียว เพราะที่นี่ทุกอย่างของเขาแจ่มจริงๆ ไปแล้วจะสุขกายสุขใจจริงๆ…